วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12460/2547
ป.อ. มาตรา 329
              เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วย ในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็ค ที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
             เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์ จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม
             ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 - 354/2529
ป.อ. มาตรา 137, 326, 329
               โจทก์รับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล โดยมีโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคพร้อมส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งจำเลยที่ 1 พูดยืนยันตามหนังสือร้องเรียนว่า โจทก์รับสินบนในการรับตนเข้าทำงาน บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาว ประกอบกับโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ตรวจภายใน นาง ม. ทั้งสองครั้งจริงแต่อ้างว่าตรวจเพื่อหาเชื้อกามโรค และเพื่อดูพรหมจารีย์ ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้รับรอง พฤติการณ์เจือสมกัน เชื่อได้ว่านาง ม. เบิกความตามความเป็นจริง เพราะแม้นาง ก. พยานโจทก์ ก็ยอมรับว่า เคยทราบข่าวเรื่องโจทก์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางชู้สาวเหมือนกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีความประพฤติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปทำนองหนังสือร้องเรียนของจำเลย
               ส่วนเงินบริจาคของนาง ป. เพื่อซ่อมแซมหลังคาซุ้มพระนั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีการทุจริตในเงินดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำเข้าบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาล กลับไปฝากที่ธนาคารในชื่อของโจทก์ ซึ่งผิดระเบียบของทางราชการ และเพิ่งซื้อเครื่องดูดเสมหะในภายหลัง กับคืนเงินของนาง ป. ภายหลังที่ถูกจำเลยมีหนังสือร้องเรียนแล้ว และโจทก์เป็นที่ปรึกษาของโรงพยาบาล ศ. ต้องไปโรงพยาบาลดังกล่าวบ่อย ๆ ประกอบกับจำเลยมีภาพถ่ายหมาย จ.9 จ.12 แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ศ. ไปทำงานที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลแสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยทั้งสิ้น พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ขัดต่อเหตุผลมีน้ำหนักสู้พยานจำเลยไม่ได้ พฤติการณ์จึงเจือสมการร้องเรียนของจำเลย และกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แจ้งต่อคณะกรรมการทำนองเดียวกับหนังสือร้องเรียน ต่อมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์
               เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริง หรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหาย และเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการ แล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย ลำพังเพียงจำเลยไม่นำเรื่องให้ที่ประชุมโรงพยาบาลพิจารณาแต่นำไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเลยก็หาใช่เหตุผลแสดงว่า จำเลยนำความเท็จมาร้องเรียนโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทดังโจทก์ฎีกาไม่