วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พรากผู้เยาว์และข่มขืนเป็นต่างกรรมต่างวาระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  775/2548
ป.อ. มาตรา 90, 91, 276, 309, 310, 318 วรรคสาม
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ 225
               ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม นั้น เมื่อจำเลยมีเจตนาและได้พรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง
               ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง กับความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และข่มขืนกระทำชำเรานั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
               นอกจากนี้ ศาลล่างทั้งสองมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และปรับบทลงโทษจำเลยโดยไม่ระบุเป็นความผิดตามวรรคใดในมาตราที่ลงโทษ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4304/2541
ป.อ. มาตรา 90, 91
ป.วิ.อ. มาตรา 227
               โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ แต่มีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายในคดีที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในเหตุการณ์เดียวกันมาส่งอ้างต่อศาล ซึ่งผู้เสียหายยืนยันว่า จำเลยร่วมเป็นคนร้ายคนหนึ่งด้วย ทันทีที่ผู้เสียหายหลบหนีจากจำเลยกับพวกกลับมาถึงบ้านได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และให้ถ้อยคำยืนยันเหตุการณ์และรายละเอียดของพฤติการณ์ต่าง ๆ มาโดยตลอด
               เมื่อฟังประกอบพยานโจทก์คนอื่น ๆ ซึ่งเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมและใกล้ชิดกับเหตุการณ์แล้ว มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้าย จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปฉุดผู้เสียหายและพาออกจากบ้าน ระหว่างทางจำเลยกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วพาตัวผู้เสียหายไปกักขังไว้
               การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดต่อตัวผู้เสียหายโดยตรงต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการที่จะเอาตัวผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยกับพวกจะกักตัวผู้เสียหายไว้อีก ก็เนื่องมาจากความประสงค์เดียวกันทั้งสอง การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหลายหลายบท ต้องลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
               ส่วนการทีจำเลยพรากผู้เสียหายไปจากมารดาของผู้เสียหายนั้น แม้จะเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน แต่ความผิด ฐานนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อมารดาผู้เสียหาย จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวกับความผิดข้างต้น