วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

หมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ้ก

              การพิมพ์ข้อความผ่านเฟซบุ้ก ในกรณีที่เป็นการใส่ความผู้อื่นโดยการด่าว่าผู้อื่นให้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘
             ส่วนข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนนั้น
             คำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขดำที่ ๕๕๗๓/๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๓๗/๒๕๕๘ เห็นว่า “ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
             "มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฯลฯ "
             กรณีเป็นการบัญญัติเช่นเดียวกับความผิดข้อหาปลอมเอกสาร เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย
             ดังนั้น หากมีการนำข้อมูลปลอม เติม หรือตัดทอน หรือแก้ไขข้อมูลด้วยประการใด ๆ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีความผิดตามบทบัญญัตินี้
             แต่ไม่รวมถึง การกระทำความผิดข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว หากจะบัญญัติให้เป็นความผิดเช่นนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา ๑๖ และเป็นความผิดอันยอมความได้
             "มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
               ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ ฯลฯ "
               ดังนั้น การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) แต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘”
               ในส่วนที่จะเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่นั้น อัยการสูงสุด เห็นว่า ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นคนไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับพฤติการณ์นำเข้าข้อความหมิ่นประมาท ได้กระทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางโปรแกรม Facebook โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำความผิดด้วยการนำเข้าข้อความหมิ่นประมาท และการเปิด Facebook พบเห็นข้อความหมิ่นประมาท ได้มีการกระทำ ณ ที่ใดหรือการกระทำความผิดส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำขณะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การที่โปรแกรม Facebook มีที่ตั้งถิ่นฐานที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ก็เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น คดีนี้จึงมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ที่จะให้อัยการสูงสุดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  คดีความผิดนอกราชอาณาจักร
-  หมิ่นประมาทโดยส่งต่อข้อความ

หมิ่นประมาทโดยส่งต่อข้อความ

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 418/2555
ป.อ. หมิ่นประมาท (มาตรา 326)
               อีเมลแอดเอรส mayXXXX@gmail.com ที่ส่งข้อความใส่ความ มายัง อีเมลของผู้กล่าวหาที่ 1 ผู้กล่าวหาที่ 2 และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 ไม่รู้จัก ในคราวเดียวกันนั้น เป็นอีเมลแอดเดรสของผู้ต้องหา สอดคล้องกับชื่อและนามสกุลจริงของผู้ต้องหาตามที่ปรากฏในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ต้องหาเคยติดต่อกับผู้กล่าวหาที่ 1 ในครั้งที่เคยเป็นแฟนกัน
               แม้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะส่งถึงผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อความเหมือนกันซึ่งมีทั้งข้อความที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 1 ว่าเป็นผู้ชายเลว ผู้ชายเนรคุณ หลอกลวงผู้หญิงและข้อความ ที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 2 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แย่งสามีคนอื่น เป็นเมียน้อยคนอื่น
               ดังนั้น ข้อความในส่วนที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 1 ผู้กล่าวหาที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่สาม ส่วนข้อความในส่วนที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 2 ผู้กล่าวหาที่ 1 จึงเป็นบุคคลที่สาม ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คําชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 27/2549
ป.อาญา ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า (ม.393)
               ผู้ต้องหาได้ส่งข้อความไปให้ผู้กล่าวหาทางโทรศัพท์มือถือ รวม 12 ข้อความ ต่อมา ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาต่างฝ่ายต่างโทรศัพท์ติดต่อกัน ซึ่งผู้ต้องหาได้ด่าว่าผู้กล่าวหาหลายประโยค โดยข้อความที่ผู้ต้องหาส่งไปและคําด่ามีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
              อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นการกระทําเหยียดหยามเกียรติ โดยทําให้ผู้ถูกกระทํารู้ได้หรือทราบได้ขณะมีการกระทําในทันใดนั้นเอง กล่าวคือ เพียงแต่กล่าวถ้อยคําหรือแสดงถ้อยคําให้ผู้ถูกกระทําได้ยินหรือได้ทราบในทันใดนั้นเองก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จําต้องกระทําต่อหน้าหรือแม้จะไม่ได้กล่าวต่อหน้า แต่ผู้ถูกกระทําได้ยินถ้อยคําที่ผู้กระทํากล่าวหรือได้ทราบขณะที่กำลังกระทํา ย่อมเป็นความผิดฐานนี้
             ดังนั้น การดูหมิ่นผู้อื่นผ่านทางโทรศัพท์ ย่อมเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า จึงชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหา ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  110/2516
ป.อ. มาตรา 326, 328, 393
              การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แต่ตามฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยมีจดหมายซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงตัวโจทก์โดยตรง แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะให้โจทก์เท่านั้นทราบข้อความในจดหมาย มิใช่เจตนาเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม
              แม้เสมียนทนายของโจทก์ ซึ่งได้ทราบข้อความจากจดหมายที่จำเลยส่งไปยังสำนักงานทนายความถึงตัวโจทก์นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
              จำเลยมีจดหมายถึงโจทก์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2513 โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2513 แม้จะฟังว่าข้อความในจดหมายเป็นการดูหมิ่นโจทก์ แต่การที่จำเลยส่งจดหมายไปกว่าจะถึงโจทก์ก็ต่างวันเวลากัน ไม่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าตามความหมายในมาตรา 393 ทั้งไม่ใช่เป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12460/2547
ป.อ. มาตรา 329
              เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วย ในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็ค ที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
             เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์ จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม
             ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 - 354/2529
ป.อ. มาตรา 137, 326, 329
               โจทก์รับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล โดยมีโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคพร้อมส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งจำเลยที่ 1 พูดยืนยันตามหนังสือร้องเรียนว่า โจทก์รับสินบนในการรับตนเข้าทำงาน บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาว ประกอบกับโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ตรวจภายใน นาง ม. ทั้งสองครั้งจริงแต่อ้างว่าตรวจเพื่อหาเชื้อกามโรค และเพื่อดูพรหมจารีย์ ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้รับรอง พฤติการณ์เจือสมกัน เชื่อได้ว่านาง ม. เบิกความตามความเป็นจริง เพราะแม้นาง ก. พยานโจทก์ ก็ยอมรับว่า เคยทราบข่าวเรื่องโจทก์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางชู้สาวเหมือนกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีความประพฤติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปทำนองหนังสือร้องเรียนของจำเลย
               ส่วนเงินบริจาคของนาง ป. เพื่อซ่อมแซมหลังคาซุ้มพระนั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีการทุจริตในเงินดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำเข้าบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาล กลับไปฝากที่ธนาคารในชื่อของโจทก์ ซึ่งผิดระเบียบของทางราชการ และเพิ่งซื้อเครื่องดูดเสมหะในภายหลัง กับคืนเงินของนาง ป. ภายหลังที่ถูกจำเลยมีหนังสือร้องเรียนแล้ว และโจทก์เป็นที่ปรึกษาของโรงพยาบาล ศ. ต้องไปโรงพยาบาลดังกล่าวบ่อย ๆ ประกอบกับจำเลยมีภาพถ่ายหมาย จ.9 จ.12 แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ศ. ไปทำงานที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลแสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยทั้งสิ้น พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ขัดต่อเหตุผลมีน้ำหนักสู้พยานจำเลยไม่ได้ พฤติการณ์จึงเจือสมการร้องเรียนของจำเลย และกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แจ้งต่อคณะกรรมการทำนองเดียวกับหนังสือร้องเรียน ต่อมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์
               เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริง หรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหาย และเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการ แล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย ลำพังเพียงจำเลยไม่นำเรื่องให้ที่ประชุมโรงพยาบาลพิจารณาแต่นำไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเลยก็หาใช่เหตุผลแสดงว่า จำเลยนำความเท็จมาร้องเรียนโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทดังโจทก์ฎีกาไม่