วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2567

ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562
มาตรา 326 , 328
                  การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าว ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่า บุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 
                  เมื่อพิจารณาข้อความตามภาพถ่ายแล้ว แม้ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นอดีตทหารและเช่าที่ดินจาก บ. ซึ่งอยู่ติดสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารชื่อ "พ." ซึ่งมีเพียงร้านเดียวในจังหวัดกาญจนบุรี และยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บ. ด้วย เมื่อได้อ่านข้อความตามภาพถ่ายดังกล่าวแล้วก็เข้าใจทันทีว่าบุคคลที่จำเลยกล่าวถึงนั้น หมายถึงโจทก์ และอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง คดีโจทก์จึงมีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326
                  ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ

ความผิดเกี่ยวกับเพศ
                -  ความหมายของการกระทำชำเรา
                -  เยื่อพรหมจารีไม่ฉีกขาด
                -  กฎหมายแก้ไขโทษกรณีกระทำชำเราเด็ก
                -  ผู้เยาว์มีอำนาจร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง
                -  ยินยอมไม่ถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด
                -  ผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็ก
                -  ไม่ผิดฐานพยายามข่มขืน
                -  บรรยายฟ้องความผิดต่างกรรมต่างวาระ

ความผิดต่อเสรีภาพ
                -  กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา
                -  พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร
                -  ไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร
                -  พรากผู้เยาว์และข่มขืนเป็นต่างกรรมต่างวาระ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท
                -  หมิ่นประมาทโดยการปิดประกาศ
                -  หมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ๊ก
                -  หมิ่นประมาทโดยการส่งต่อข้อความ
                -  ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

หมิ่นประมาทโดยการปิดประกาศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2272/2527
ป.อ. มาตรา 96, 326, 328, 330
           การปิดประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่าการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออก ดังนั้น แม้จำเลยติดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนแต่เมื่อโจทก์ร้องทุกข์และฟ้องคดีไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันปลดป้ายประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทออก คดีจึงไม่ขาดอายุความ
            ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า"ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฯลฯ" เห็นว่า คำว่า "ใส่ความ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่าหมายถึง "พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย" 
            ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์ โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับ แปลเป็นภาษาไทยว่า "โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ" โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า เป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง ก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2499/2526
ป.อ. มาตรา 328, 330
           จำเลยนำข้อความไปลงในหนังสือพิมพ์รายวันว่า "ประกาศจับ ส. (โจทก์) ในข้อหาหรือฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ผู้ใดพบเห็นหรือชี้แนะได้ให้นำส่งสถานีตำรวจ ช. (ผู้เสียหาย)" และลงรูปโจทก์ไว้ข้างข้อความดังกล่าว โดยปรากฏว่าขณะจำเลยนำข้อความตามฟ้องและรูปโจทก์ไปลงโฆษณานั้น จำเลยก็ทราบว่าโจทก์รับราชการมีที่อยู่ที่แน่นอน ซึ่งจำเลยอาจนำเจ้าพนักงานไปจับกุมโจทก์ตามหมายจับได้โดยง่าย ไม่มีความจำเป็นต้องลงโฆษณาประกาศจับทางหนังสือพิมพ์และข้อความที่ลงโฆษณาย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนทุจริต
             การกระทำของจำเลย จึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เรื่องที่จำเลยลงโฆษณาก็เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้พนักงานสอบสวนจะออกหมายจับโจทก์จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความหมายของการกระทำชำเรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6323/2557
ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง, 227 วรรคสาม
              ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ให้ความหมายของการกระทำชำเราว่า หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใด กระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
              กรณีที่ผู้กระทำใช้อวัยวะเพศของตนกระทำชำเรา จะเป็นความผิดสำเร็จได้ ต่อเมื่อ
              หากเป็นกรณีชายกระทำต่อหญิง ต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของชายล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของหญิง
              หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของชายผู้กระทำ ล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักหรือช่องปากของชายผู้ถูกกระทำ
              หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อชาย ต้องเป็นกรณีให้อวัยวะเพศชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิงผู้กระทำ
              ส่วนกรณีที่ผู้กระทำใช้สิ่งอื่นใดกระทำชำเรา จะเป็นความผิดสำเร็จได้ ต่อเมื่อ
              หากเป็นกรณีชายกระทำต่อหญิง ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอด หรือทวารหนักของหญิง
              หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือให้อวัยวะเพศชายของชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของผู้กระทำ
              หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อชาย ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของชาย หรือให้อวัยวะเพศของชายล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของหญิง
              หากเป็นกรณีหญิงกระทำต่อหญิงด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดหรือทวารหนักของหญิงผู้ถูกกระทำ
              ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชาย ใช้ปากอมอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กชายอายุ 11 ปีเศษ จึงถือได้ว่าช่องปากของจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 277 วรรคสาม

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

หมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ้ก

              การพิมพ์ข้อความผ่านเฟซบุ้ก ในกรณีที่เป็นการใส่ความผู้อื่นโดยการด่าว่าผู้อื่นให้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘
             ส่วนข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนนั้น
             คำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขดำที่ ๕๕๗๓/๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๓๗/๒๕๕๘ เห็นว่า “ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
             "มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฯลฯ "
             กรณีเป็นการบัญญัติเช่นเดียวกับความผิดข้อหาปลอมเอกสาร เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย
             ดังนั้น หากมีการนำข้อมูลปลอม เติม หรือตัดทอน หรือแก้ไขข้อมูลด้วยประการใด ๆ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีความผิดตามบทบัญญัตินี้
             แต่ไม่รวมถึง การกระทำความผิดข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว หากจะบัญญัติให้เป็นความผิดเช่นนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา ๑๖ และเป็นความผิดอันยอมความได้
             "มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
               ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ ฯลฯ "
               ดังนั้น การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) แต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘”
               ในส่วนที่จะเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่นั้น อัยการสูงสุด เห็นว่า ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นคนไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับพฤติการณ์นำเข้าข้อความหมิ่นประมาท ได้กระทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางโปรแกรม Facebook โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำความผิดด้วยการนำเข้าข้อความหมิ่นประมาท และการเปิด Facebook พบเห็นข้อความหมิ่นประมาท ได้มีการกระทำ ณ ที่ใดหรือการกระทำความผิดส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำขณะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การที่โปรแกรม Facebook มีที่ตั้งถิ่นฐานที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ก็เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น คดีนี้จึงมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ที่จะให้อัยการสูงสุดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  คดีความผิดนอกราชอาณาจักร
-  หมิ่นประมาทโดยส่งต่อข้อความ