วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้เยาว์มีอำนาจร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3915/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 123, 158 (5)
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายกำลังนอนหลับอยู่ จำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหาย อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ลูบคลำร่างกายของผู้เสียหาย และพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่สวมใส่อยู่ออก และใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
             ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกายกับจำเลยลูบคลำร่างกายของผู้เสียหายอย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว
            ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ การที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ยินยอมไม่ถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4147/2550
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก, 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 3(2), 5(1), 15
ป.วิ.พ. มาตรา 88, 225, 249 วรรคหนึ่ง
             ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก การกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) 
             แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้าง ส.เป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้าง ส. เป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้
             ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงทั้งสามจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา
             การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  354/2542
ป.อ. มาตรา 319
             ผู้เยาว์มีอายุ 16 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ผู้เยาว์กับเพื่อนอีกหลายคนได้พากันไปเที่ยวน้ำตก และได้พบกับจำเลยจึงไปเที่ยวด้วยกัน ต่อมา เมื่อเพื่อนของผู้เยาว์พากันกลับบ้านหมดแล้ว จำเลยกับผู้เยาว์ได้ไปที่บ้านญาติจำเลย และจำเลยกับผู้เยาว์ได้ร่วมประเวณีกันโดยผู้เยาว์ยินยอม และในเวลาต่อมาจำเลยได้พาผู้เยาว์ไปอยู่ด้วยกัน จนกระทั่ง มีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับจำเลยไปดำเนินคดี
             พฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกัน ก็ด้วยประสงค์ที่จะเลี้ยงดูเป็นภริยาเนื่องจากผู้เยาว์กับจำเลยรู้จักสนิทสนมกันมานานประมาณ 4 ปี และมีความรักใคร่ชอบพอกันอยู่ก่อนแล้ว และผู้เยาว์เองก็ยอมรับว่าตนสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลย นอกจากนี้บิดามารดาของจำเลยก็เคยติดต่อสู่ขอผู้เยาว์จากบิดามารดาของผู้เยาว์แต่ไม่อาจตกลงกันได้เกี่ยวกับจำนวนเงินค่าสินสอด ทั้ง ๆ ที่จำเลยเป็นหลานของมารดาผู้เยาว์ แต่อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุผู้เยาว์ก็ยังคงอยู่กินกับจำเลยมาโดยตลอดมิได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏว่าผู้เยาว์ตั้งครรภ์ ได้หลายเดือนแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยพาผู้เยาว์ไปโดยตั้งใจเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นภริยาจริง ๆ ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อนด้วย ฉะนั้น จำเลยย่อมอยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงดูผู้เยาว์ฉันสามีภริยาได้โดยแท้ กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร