วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

หมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ้ก

              การพิมพ์ข้อความผ่านเฟซบุ้ก ในกรณีที่เป็นการใส่ความผู้อื่นโดยการด่าว่าผู้อื่นให้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘
             ส่วนข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนนั้น
             คำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขดำที่ ๕๕๗๓/๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๓๗/๒๕๕๘ เห็นว่า “ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
             "มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฯลฯ "
             กรณีเป็นการบัญญัติเช่นเดียวกับความผิดข้อหาปลอมเอกสาร เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย
             ดังนั้น หากมีการนำข้อมูลปลอม เติม หรือตัดทอน หรือแก้ไขข้อมูลด้วยประการใด ๆ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีความผิดตามบทบัญญัตินี้
             แต่ไม่รวมถึง การกระทำความผิดข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว หากจะบัญญัติให้เป็นความผิดเช่นนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา ๑๖ และเป็นความผิดอันยอมความได้
             "มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
               ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ ฯลฯ "
               ดังนั้น การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) แต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘”
               ในส่วนที่จะเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่นั้น อัยการสูงสุด เห็นว่า ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นคนไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับพฤติการณ์นำเข้าข้อความหมิ่นประมาท ได้กระทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางโปรแกรม Facebook โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำความผิดด้วยการนำเข้าข้อความหมิ่นประมาท และการเปิด Facebook พบเห็นข้อความหมิ่นประมาท ได้มีการกระทำ ณ ที่ใดหรือการกระทำความผิดส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำขณะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การที่โปรแกรม Facebook มีที่ตั้งถิ่นฐานที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ก็เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น คดีนี้จึงมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ที่จะให้อัยการสูงสุดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  คดีความผิดนอกราชอาณาจักร
-  หมิ่นประมาทโดยส่งต่อข้อความ

หมิ่นประมาทโดยส่งต่อข้อความ

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 418/2555
ป.อ. หมิ่นประมาท (มาตรา 326)
               อีเมลแอดเอรส mayXXXX@gmail.com ที่ส่งข้อความใส่ความ มายัง อีเมลของผู้กล่าวหาที่ 1 ผู้กล่าวหาที่ 2 และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 ไม่รู้จัก ในคราวเดียวกันนั้น เป็นอีเมลแอดเดรสของผู้ต้องหา สอดคล้องกับชื่อและนามสกุลจริงของผู้ต้องหาตามที่ปรากฏในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ต้องหาเคยติดต่อกับผู้กล่าวหาที่ 1 ในครั้งที่เคยเป็นแฟนกัน
               แม้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะส่งถึงผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อความเหมือนกันซึ่งมีทั้งข้อความที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 1 ว่าเป็นผู้ชายเลว ผู้ชายเนรคุณ หลอกลวงผู้หญิงและข้อความ ที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 2 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แย่งสามีคนอื่น เป็นเมียน้อยคนอื่น
               ดังนั้น ข้อความในส่วนที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 1 ผู้กล่าวหาที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่สาม ส่วนข้อความในส่วนที่เป็นการใส่ความผู้กล่าวหาที่ 2 ผู้กล่าวหาที่ 1 จึงเป็นบุคคลที่สาม ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้กล่าวหาที่ 1 และผู้กล่าวหาที่ 2 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คําชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 27/2549
ป.อาญา ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า (ม.393)
               ผู้ต้องหาได้ส่งข้อความไปให้ผู้กล่าวหาทางโทรศัพท์มือถือ รวม 12 ข้อความ ต่อมา ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาต่างฝ่ายต่างโทรศัพท์ติดต่อกัน ซึ่งผู้ต้องหาได้ด่าว่าผู้กล่าวหาหลายประโยค โดยข้อความที่ผู้ต้องหาส่งไปและคําด่ามีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
              อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นการกระทําเหยียดหยามเกียรติ โดยทําให้ผู้ถูกกระทํารู้ได้หรือทราบได้ขณะมีการกระทําในทันใดนั้นเอง กล่าวคือ เพียงแต่กล่าวถ้อยคําหรือแสดงถ้อยคําให้ผู้ถูกกระทําได้ยินหรือได้ทราบในทันใดนั้นเองก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จําต้องกระทําต่อหน้าหรือแม้จะไม่ได้กล่าวต่อหน้า แต่ผู้ถูกกระทําได้ยินถ้อยคําที่ผู้กระทํากล่าวหรือได้ทราบขณะที่กำลังกระทํา ย่อมเป็นความผิดฐานนี้
             ดังนั้น การดูหมิ่นผู้อื่นผ่านทางโทรศัพท์ ย่อมเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า จึงชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหา ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  110/2516
ป.อ. มาตรา 326, 328, 393
              การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แต่ตามฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยมีจดหมายซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงตัวโจทก์โดยตรง แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะให้โจทก์เท่านั้นทราบข้อความในจดหมาย มิใช่เจตนาเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม
              แม้เสมียนทนายของโจทก์ ซึ่งได้ทราบข้อความจากจดหมายที่จำเลยส่งไปยังสำนักงานทนายความถึงตัวโจทก์นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
              จำเลยมีจดหมายถึงโจทก์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2513 โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2513 แม้จะฟังว่าข้อความในจดหมายเป็นการดูหมิ่นโจทก์ แต่การที่จำเลยส่งจดหมายไปกว่าจะถึงโจทก์ก็ต่างวันเวลากัน ไม่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าตามความหมายในมาตรา 393 ทั้งไม่ใช่เป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12460/2547
ป.อ. มาตรา 329
              เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วย ในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็ค ที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
             เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์ จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม
             ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 - 354/2529
ป.อ. มาตรา 137, 326, 329
               โจทก์รับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล โดยมีโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคพร้อมส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งจำเลยที่ 1 พูดยืนยันตามหนังสือร้องเรียนว่า โจทก์รับสินบนในการรับตนเข้าทำงาน บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาว ประกอบกับโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ตรวจภายใน นาง ม. ทั้งสองครั้งจริงแต่อ้างว่าตรวจเพื่อหาเชื้อกามโรค และเพื่อดูพรหมจารีย์ ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้รับรอง พฤติการณ์เจือสมกัน เชื่อได้ว่านาง ม. เบิกความตามความเป็นจริง เพราะแม้นาง ก. พยานโจทก์ ก็ยอมรับว่า เคยทราบข่าวเรื่องโจทก์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางชู้สาวเหมือนกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีความประพฤติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปทำนองหนังสือร้องเรียนของจำเลย
               ส่วนเงินบริจาคของนาง ป. เพื่อซ่อมแซมหลังคาซุ้มพระนั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีการทุจริตในเงินดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำเข้าบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาล กลับไปฝากที่ธนาคารในชื่อของโจทก์ ซึ่งผิดระเบียบของทางราชการ และเพิ่งซื้อเครื่องดูดเสมหะในภายหลัง กับคืนเงินของนาง ป. ภายหลังที่ถูกจำเลยมีหนังสือร้องเรียนแล้ว และโจทก์เป็นที่ปรึกษาของโรงพยาบาล ศ. ต้องไปโรงพยาบาลดังกล่าวบ่อย ๆ ประกอบกับจำเลยมีภาพถ่ายหมาย จ.9 จ.12 แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ศ. ไปทำงานที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลแสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยทั้งสิ้น พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ขัดต่อเหตุผลมีน้ำหนักสู้พยานจำเลยไม่ได้ พฤติการณ์จึงเจือสมการร้องเรียนของจำเลย และกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แจ้งต่อคณะกรรมการทำนองเดียวกับหนังสือร้องเรียน ต่อมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์
               เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริง หรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหาย และเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการ แล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย ลำพังเพียงจำเลยไม่นำเรื่องให้ที่ประชุมโรงพยาบาลพิจารณาแต่นำไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเลยก็หาใช่เหตุผลแสดงว่า จำเลยนำความเท็จมาร้องเรียนโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทดังโจทก์ฎีกาไม่

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

กฎหมายแก้ไขโทษกรณีกระทำชำเราเด็ก


               "มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
                มาตรา ๒๗๗  ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
               การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
                ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
                ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
                ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป
                และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                มาตรา ๒๗๗  ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
                การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
                ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
                ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
                ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กผู้ถูกกระทำนั้นยินยอม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือจะอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกันโดยกำหนดเงื่อนไขให้ต้องดำเนินการภายหลังการสมรสก็ได้ และเมื่อศาลได้พิจารณามีคำสั่งอย่างใดแล้ว ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ในการพิจารณาของศาลให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิดและเด็กผู้ถูกกระทำ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอื่นอันควรเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย
              (ข้อพิจารณา :-
               ๑. กฎหมายใหม่ได้เพิ่มโทษปรับมากขึ้นกว่าเดิมสิบเท่า
               ๒. กฎหมายใหม่ได้ตัดข้อความ "และเด็กนั้นไม่ยินยอม" ในวรรคสามเดิมออก เท่ากับว่า ถ้าเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือเด็กชาย แม้เด็กนั้นยินยอม ก็เป็นความผิดแล้ว
               ๓. มีการแก้ไขเพิ่มเติมวรรคท้ายว่า กรณีเด็กผู้ถูกกระทำยินยอม ศาลเยาวชนฯ พิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กผู้ถูกกระทำและผู้กระทำตามกฎหมายคุ้มครองเด็กได้ หรือจะอนุญาตให้สมรสกันโดยมีเงื่อนไขก็ได้ เมื่อพิจารณามีคำสั่งอย่างใดแล้ว ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น เมื่อศาลอนุญาตให้สมรสกันแล้วผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ)

              "มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๘๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๒๘๕/๑  การกระทำความผิดตามมาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๙ มาตรา ๒๘๒ วรรคสาม มาตรา ๒๘๓ วรรคสาม และมาตรา ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น"
              "มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๒๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๓๒๑/๑  การกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑๒ ตรี วรรคสอง และมาตรา ๓๑๗ หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น"
               (ข้อพิจารณา :- แต่เดิมศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่า การที่จำเลยไม่รู้ว่าเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีหรือไม่เกินสิบสามปีแล้วแต่กรณีอันเป็นองค์ประกอบภายนอก ถือว่าขาดเจตนากระทำผิดตามมาตรา ๕๙ วรรคสาม แต่กฎหมายใหม่เพิ่มเติมว่า ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิด)

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้เยาว์มีอำนาจร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3915/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 123, 158 (5)
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายกำลังนอนหลับอยู่ จำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหาย อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ลูบคลำร่างกายของผู้เสียหาย และพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่สวมใส่อยู่ออก และใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
             ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกายกับจำเลยลูบคลำร่างกายของผู้เสียหายอย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว
            ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ การที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ยินยอมไม่ถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4147/2550
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก, 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 3(2), 5(1), 15
ป.วิ.พ. มาตรา 88, 225, 249 วรรคหนึ่ง
             ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก การกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) 
             แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้าง ส.เป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้าง ส. เป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้
             ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงทั้งสามจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา
             การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  354/2542
ป.อ. มาตรา 319
             ผู้เยาว์มีอายุ 16 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ผู้เยาว์กับเพื่อนอีกหลายคนได้พากันไปเที่ยวน้ำตก และได้พบกับจำเลยจึงไปเที่ยวด้วยกัน ต่อมา เมื่อเพื่อนของผู้เยาว์พากันกลับบ้านหมดแล้ว จำเลยกับผู้เยาว์ได้ไปที่บ้านญาติจำเลย และจำเลยกับผู้เยาว์ได้ร่วมประเวณีกันโดยผู้เยาว์ยินยอม และในเวลาต่อมาจำเลยได้พาผู้เยาว์ไปอยู่ด้วยกัน จนกระทั่ง มีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับจำเลยไปดำเนินคดี
             พฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกัน ก็ด้วยประสงค์ที่จะเลี้ยงดูเป็นภริยาเนื่องจากผู้เยาว์กับจำเลยรู้จักสนิทสนมกันมานานประมาณ 4 ปี และมีความรักใคร่ชอบพอกันอยู่ก่อนแล้ว และผู้เยาว์เองก็ยอมรับว่าตนสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลย นอกจากนี้บิดามารดาของจำเลยก็เคยติดต่อสู่ขอผู้เยาว์จากบิดามารดาของผู้เยาว์แต่ไม่อาจตกลงกันได้เกี่ยวกับจำนวนเงินค่าสินสอด ทั้ง ๆ ที่จำเลยเป็นหลานของมารดาผู้เยาว์ แต่อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุผู้เยาว์ก็ยังคงอยู่กินกับจำเลยมาโดยตลอดมิได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏว่าผู้เยาว์ตั้งครรภ์ ได้หลายเดือนแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยพาผู้เยาว์ไปโดยตั้งใจเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นภริยาจริง ๆ ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อนด้วย ฉะนั้น จำเลยย่อมอยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงดูผู้เยาว์ฉันสามีภริยาได้โดยแท้ กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร